พิธีกินแขกแต่งงาน แบบล้านนา…วันหวานยุคคุณพ่อ คุณแม่

พิธีแต่งงานในภาคเหนือของประเทศไทยเป็นช่วงเวลาที่แสดงความพิเศษและเต็มไปด้วยความอบอุ่น ประเพณีแต่งงานในภาคเหนือนั้นเต็มไปด้วยสีสัน ความเป็นธรรมชาติ และความเชื่อทางศาสนาที่เป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตของคนในภาคนี้ นี่คือบรรยายของพิธีแต่งงานในภาคเหนือที่อ่อนหวานและน่าสนใจในอดีต แม้นว่า ปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในความเชื่อ และพิธีแต่งงาน ของภาคเหนือ ไปก็ตาม

 

เดิม ประเพณีแต่งงานของภาคเหนือ หรือ ล้านนา  เรียกว่า “กินแขกแต่งงาน” หากพูดเป็นภาษาชาวบ้านว่า “เอาผัวเอาเมีย” เมื่อวันแต่งงานมาถึง บรรยากาศจะเต็มไปด้วยความสุขและรอยยิ้มที่อ่อนหวาน เป็นวันที่คู่บ่าวสาวและครอบครัวของเขา จะรวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองความรักและความร่วมมือในการสร้างครอบครัวใหม่ นอกจากนี้ พิธีแต่งงานยังเป็นโอกาสในการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษและศาสนาอันเป็นส่วนสำคัญของชุมชนอีกด้วย 

ชาวล้านนาในสมัยก่อน จะออกเรือนแต่งงาน จะต้องผ่านการเลือกคู่ครอง ด้วยความพึงพอใจต่อกันก่อน ด้วยการเรียนรู้นิสัยใจคอ ผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า “ แอ่วสาว ” โดยชายหนุ่มจะแอ่วสาว หรือการไปเยี่ยมเยือน ถึงบ้านฝ่ายหญิง โดยจะไปเดี่ยว หรือ ไปเป็นกลุ่ม ก็ได้ ซึ่งชายหนุ่มจะใช้การละเล่นดนตรีพื้นเมือง ได้แก่ สะล้อ ซอซึง พร้อมกับ การ “ อู้สาว ” หรือคำเกี้ยวพาราสี แบบล้านนา ที่เรียกว่า “ คำค่าวคำเครือ ”

เช่น 

ฝ่ายชาย “ วันนี้สาวกิ๋นข้าวกับหยั่ง ” ( วันนี้คุณผู้หญิงทานข้าวกับอะไร )
ฝ่ายหญิง จะมีวิธีตอบ 2 ลักษณะ ที่บ่งบอกถึงความชอบพอ ซึ่งชายหนุ่มจะทราบได้ว่า ฝ่ายหญิงพึงพอใจตนหรือไม่

ถ้าฝ่ายหญิงตอบว่า “ วันนี้กิ๋นแก๋งบ่าฟัก ” ( วันนี้ทานแกงฟัก )

หมายถึง ฮัก ( รัก) แสดงถึงความพึงพอใจ

ถ้าฝ่ายหญิงตอบว่า “ วันนี้กิ๋นแกงบ่ะค้อนก้อม ( แกงมะรุม ) ( วันนี้ทานแกงค้อนก้อม : ผักชนิดหนึ่ง ซึ่งสื่อความหมายถึงฆ้อน  แสดงถึงความไม่พึงพอใจ

 

เมื่อชายหนุ่มหญิงสาว ได้มีการศึกษานิสัยใจคอ ผ่านการพูดคุย ซึ่งจะมี พ่อแม่ของ ฝ่ายหญิงเฝ้าฟังการสนทนา  อยู่ห่าง ๆ เพื่อช่วยประเมินคุณสมบัติของชายหนุ่มผู้เสนอตัว มาเป็นลูกเขย แล้ว ตกลงปลงใจ ให้มีการแต่งงาน เกิดขึ้น

การแต่งงานในวัฒนธรรมล้านนาแบบดั้งเดิมนั่น ไม่นิยมจัดพิธีใหญ่โตเอิกเกริก และแบ่งการแต่งงานออกเป็น 2 ประเภทคือ

การแต่งงานแบบผิดผี 

คือ ชายหนุ่มและหญิงสาว ได้เสียกันก่อนแต่งงาน การกระทำนี้เรียกว่า “ ผิดผี ” หมายถึงการทำผิดประเพณี ซึ่งญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะแจ้งให้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชาย ทราบถึงการกระทำนี้ เพื่อให้เตรียมการขอขมา ซึ่งจะต้องมี ธูปเทียน ดอกไม้ เงินค่าเสียผี ( ฝ่ายหญิง แต่ละคน จะมีค่าเสียผีไม่เท่ากัน เช่น บ้างค่าผี ปลา 12 ตัว เงิน 12 บาท , บาง ดอกไม้ขาว 3 ดอก เงิน 9 บาท แล้วแต่ ธรรมเนียมของบ้านฝ่ายหญิง )  นอกจากนี้ต้องมีอาหารสำหรับเลี้ยงผี เช่น ข้าว ไก่ อาหาร คาว หวาน ผลไม้ เป็นต้น เมื่อฝ่ายชายจัดเตรียมเครื่องสักการะแล้ว ฝ่ายหญิงจะนำเอาเครื่องสักการะเหล่านี้ ไปสักการะบูชา ผีปู่ยาตายาย เพื่อเป็นการบอกกล่าว และขอขมาที่ได้ทำการผิดประเพณี

การแต่งงานแบบสู่ขอ

เมื่อชายหนุ่มและหญิงสาว มีความรักใคร่ต่อกัน และปรารถนาที่จะอยู่กินกัน ฉันท์สามีภรรยา ญาติของฝ่ายชายจะ มาเจรจา เรียกว่า จ๋าเติง คือ การมาสู่ขอ และกำหนดวันหมั้นหมาย จัดงานแต่งงาน ก่อนถึงวันแต่งงาน ที่ฝ่ายชายเป็นผู้หาฤกษ์งามยามดี เมื่อได้ฤกษ์แล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องทยอยบอกกล่าวเชิญชวนญาติผู้ใหญ่ให้มาร่วมงาน    

สำหรับการเตรียมตัว ของฝ่ายหญิงจะต้องทอผ้าเองเพื่อทำสะลี ( ฟูกรองนอน ) , ทอผ้าปูที่นอน , ผ้าห่ม , หมอน จึงมีคำกล่าวที่ว่า “ หญิงสาวคนใด ทอผ้าไม่เป็น ก็ยังออกเรือนไม่ได้ ” พอใกล้วันแต่งงานก็ต้องจัดเตรียมสถานที่ ทำความสะอาดบ้านให้เรียบร้อย 

ส่วนว่าที่เจ้าบ่าว หรือ ฝ่ายชาย จะต้องเตรียมขบวนแห่ขันหมาก และเครื่องประกอบพิธีแต่งงาน ประกอบไปด้วย หีบผ้าใหม่ ดาบ ถุงย่าม ขันหมาก ขันไหว้ ต้นกล้วย ต้นอ้อย ขันสินสอด ขันหมากหมั้น

ในวันสำคัญนี้จะต้องจัดเตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงแขก ซึ่งจะต้องมีการล้ม หมู สำหรับบ้านที่มีฐานะ ก็จะล้ม วัว หรือ ควาย เพื่อประกอบอาหาร ที่เรียกว่า ลาบ ซึ่งเป็นอาหารที่เป็นมงคล ตามเสียงที่พร้องกับคำว่า “ ลาภ ” อาหารมงคลอีกชนิดหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในงานแต่งงาน คือ “ แกงฮังเล ” จัดว่าเป็นอาหารยอดนิยมอันดับต้นๆ ของชาวภาคเหนือ อีกทั้งยังมีต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง ชาวบ้านจึงนิยมนำไปถวายพระเนื่องในโอกาสวันสำคัญๆ ทางพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงยุคปัจจุบัน และยังสื่อความหมายของการมีฐานะ อีกด้วย

อาหารประเภทเส้น

เช่น ขนมจีน, ผัดหมี่, โดยมีความเชื่อว่าเส้นขนม หรือ เส้นหมี่ ที่ยาว เป็นเส้นเป็นสาย จะทำให้ครองรักกันยืนยาว และผักเครื่องเคียงก็ต้องเป็นผักชื่อมงคล เช่น ถั่วงอก ให้ความหมายในเรื่องของความเจริญงอกงาม งอกงาม มีความก้าวหน้า ในหน้าที่การงานและด้านการค้าขาย ให้ร่ำรวยเงินทองยิ่งๆ ขึ้นไป

 

โดยในเช้าวันแต่งงาน จะต้องทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ โดยปู่อาจารย์ ซึ่งเป็นผู้อาวุโสของคนในหมู่บ้าน และดำเนินการประกอบพิธีแต่งงาน

สำหรับ ครั้งหน้า เรามาติดตามลำดับพิธีสำหรับการกินแขกแต่งงาน แบบเบ้าล้านนา กับ ครัวคุณจี๊ดกันต่อนะคะ … ว่าแล้ว ชายหญิง คู่ใด อยากมี feel การ อู้สาว-แอ่วสาว แบบล้านนา ลองถาม “ คำค่าวคำเครือ ”

จากคุณพ่อ คุณแม่ดูนะคะ เพราะท่านผ่านช่วงเวลาอันหอมหวานนั่น มาจน มีคุณ ที่จะกลายเป็น เจ้าบ่าว เจ้าสาว ในอนาคตอันใกล้ นี้ ค่ะ

ติดต่อ

เริ่นต้นข้าวกล่องราคาเพียง 40 บาท รับจัดข้าวกล่องลำพูน เชียงใหม่ บริการส่งฟรีตามระยะทางที่กำหนด

โทร: 064-169-1695

ไลน์: @Kunjeedkitchen

บทความอื่นๆ