พิธีกินแขกแต่งงาน คลาสสิกแบบล้านนา … เจ้า

ตอนที่แล้ว เราพูดถึง “ พิธีกินแขกแต่งงาน ” ในวัฒนธรรมล้านนา ประเพณีแต่งงานที่เต็มไปด้วยความเป็นธรรมชาติ เป็นโอกาสในการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษ และความเชื่อทางศาสนา อันเป็นส่วนสำคัญของชุมชนอีกด้วย 

วันนี้ “ ครัวคุณจี๊ด ” ขอนำคุณ ก้าวเข้าสู่ล้านนาในอดีต กับลำดับพิธีกินแขกแต่งงาน หรือ พิธีแต่งงานของคนล้านนากันค่ะ

เช้าตรู่ในวันแต่งงานที่บ้านเจ้าสาวจะมีพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ โดยปู่อาจารย์ ซึ่งเป็นผู้อาวุโสของคนในหมู่บ้าน และดำเนินการประกอบพิธีแต่งงาน ซึ่งพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ หรือเรียกว่า ท้าวจตุโลกบาล เป็นเทวดาที่รักษาทุกข์ สุข ทำหน้าที่ปกปักรักษาให้เกิดแก่มนุษย์โลกไว้ทั้ง 4 ทิศ  และ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต และปัจจุบัน ก็ยังคงมีพิธีนี้ เมื่อจะทำการมงคลต่างๆ เป็นต้นว่า ขึ้นเรือนใหม่  บวชนาค งานทำบุญปอย และงานประเพณีต่างๆ เช่น งานพิธีสักการบูชาเสาอินทขิล และในเทศกาลตรุษสงกรานต์ หรือ งานแต่งงาน ก็มักจะมีการทำพิธีขึ้นท้าวทั้ง 4 นี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว 

เมื่อ ปู่อาจารย์ ได้ทำการขึ้นท้าวทั้งสี่แล้ว ลำดับพิธีกินแขกแต่งงานจะเริ่มต้น ด้วยการ ขอเขย หรือ การสู่ขอเจ้าบ่าว โดยผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว เป็นคนไปเจรจา กับผู้ใหญ่ฝั่งเจ้าบ่าว พร้อมสลุง หรือ ขัน ที่บรรจุดอกไม้ธูปเทียน  เมื่อเจรจาแล้วเสร็จ ฝ่ายเจ้าบ่าว จะตั้งขบวนขันหมาก และเคลื่อนขบวนไปสู่บ้านเจ้าสาวตามฤกษ์ยามที่กำหนด

ขบวนแห่ขันหมาก

ในขบวนแห่ขันหมาก จะประกอบด้วยเจ้าบ่าว ที่สะพายดาบ อันเป็นความหมายของ ผู้นำที่กล้าหาญ พร้อม พ่อแม่ ญาติพี่น้อง พร้อมแขกทางฝั่งเจ้าบ่าว ในขบวนจะมี เครื่องพิธีแห่ขันหมาก คือ ขันดอกไม้ บายศรี  ขันหมาก หีบผ้า ต้นกล้วย ต้นอ้อย มีดนตรีประกอบเพื่อความครื้นเครง เช่น กลองซิ้งม้อง ปีแน 

เมื่อขบวนแห่ขันหมากมาถึงบ้านเจ้าสาว ก่อนที่เจ้าบ่าวจะได้พบเจ้าสาว ต้องผ่าน พิธีกั้นประตูเงินประตูทอง ( บางจังหวัดมีการกั้นประตูตั้งแต่รั้วบ้าน ) โดยจะมีการหยอกล้อเอิ้นกันอย่างสนุกสนาน รวมถึงการเจราจาผ่านประตู เ เมื่อเจรจาตกลงกันแล้ว เจ้าบ่าวจะจ่ายเงินค่าผ่านประตู หลังจากผ่านประตูเงินประตูทองแล้ว จะมีการล้างเท้าเจ้าบ่าว ก่อนขึ้นเรือน โดยเด็ก ๆ ที่เป็นญาติของเจ้าสาวจะ ถือขันน้ำรดลงที่เท้าเจ้าบ่าว ตามความเชื่อว่า การขึ้นเรือนต้องชำระล้างสิ่งสกปรกออกไป และเจ้าบ่าวจึงมอบเงินรางวัลตอบแทน

พิธีเรียกขวัญ ผู้ข้อมือบ่าวสาว

เมื่อเข้าสู่พิธีแล้ว โดยมากเป็นบนเรือนของเจ้าสาว จะมีการทำความเคารพพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย ด้วยการไหว้ ถึงเข้าสู่พิธี “ เรียกขวัญและผูกข้อมือบ่าวสาว ” โดยมีปู่อาจารย์ เป็นผู้เรียกขวัญคู่บ่าวสาว ด้วยการนำฝ้ายมงคลแฝดสวมที่ศรีษะ เจ้าบ่าวและเจ้าสาว ตามความเชื่อว่า ขวัญของคนเรามี 32 ขวัญ อยู่ประจำตัวตาม เพื่อปกปักรักษาผู้เป็นเจ้าของขวัญให้มีความสุข ไม่เจ็บป่วย ก่อนหน้านั่นอาจทำขวัญหล่นหาย ก็ได้ทำการเรียกขวัญ ให้ ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว ก่อนทำพิธีมงคล ให้รักกันยืนยาว จากนั่นจะเป็นพิธีมัดมือ อวยพรคู่บ่าวสาว โดยใช้ ฝ้ายดิบ หรือฝ้ายไหมมือ ( ด้ายมงคล) ผูกที่ข้อมืออวยพร พร้อมมอบซองเงินให้ คู่บ่าวสาว ใส่ลงในขันสลุง ซึ่งจะมีของชำร่วยมอบให้ แขกทุกคนที่ผูกข้อมืออวยพร ตามลำดับญาติทางฝั่งเจ้าสาวก่อนจึงเป็นฝั่งเจ้าบ่าว เมื่อแล้วเสร็จ ปู่อาจารย์จะเป็นผู้ถอดฝ้ายมงคลออก เป็นอันเสร็จพิธี ทั้งนี้ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม พิธี “ เรียกขวัญ ” เท่าใดนัก เนื่องจากอาจใช้เวลานาน และความเชื่อของผู้คนเปลี่ยนไป

ส่งตัวเข้าห้องหอ

เป็นช่วงพิธีสุดท้ายของประเพณีกินแขกแต่งงานแบบล้านนา ซึ่งจะต้องทำการผูกข้อมือเจ้าบ่าวและเจ้าสาวติดกันด้วยฝ้ายไหมมือที่มีขนาดยาวขึ้น เพื่อให้ พ่อแม่ หรือ บุคคลที่ทั้งสองครอบครัวเคารพนับถือ หรือ มีชื่อเป็นมงคล เช่น คำ,ดี,ทอง,สุข เป็นผู้จูงคู่บ่าวสาวเข้าห้องหอ โดยจะต้องมีบายศรีนำหน้าขบวน ตามด้วยสลุงที่ใส่เงินทองของผู้มาร่วมงานที่ได้รับมอบตอนมัดมือบ่าวสาว เมื่อถึงห้องหอที่บนเตียงนอนถูกโรยไว้ด้วยกลีบดอกไม้ เช่น ดอกกุหลาบ แทนความหวานชื่นในชีวิตคู่ พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่แต่งงานครั้งเดียว มีหน้าที่การงานดี ลูกดี ฐานะมั่นคง  จะเป็นสามีภรรยาตัวอย่าง นอนเตียงเอาฤกษ์เอาชัย พร้อมให้โอวาทในการครองรักครองเรือน  จากนั้นก็จะเป็นอันจบพิธีแต่งงานแบบล้านนา ที่เรียกว่า “ พิธีกินแขกแต่งงาน ”

จะเห็นได้ว่า พิธีกินแขกแต่งงานแบบล้านนาในอดีตนั่น แม้นเรียบง่าย แต่ให้ความสำคัญกับ บรรพบุรุษ และเน้นพิธีกรรมที่ก่อให้เกิดสิริมงคลกับคู่บ่าวสาว เป็นสำคัญ ปัจจุบันบางพิธียังพบเห็นในงานแต่งงาน บางพิธีสูญหายไปหรือพบเห็นได้ยาก เป็นไปตามยุคสมัย อย่างไรก็ตาม พิธีแต่งงาน ไม่ว่าจะรูปแบบไหน ก็ยังคงเป็นพิธีที่สำคัญของการเริ่มต้นชีวิตคู่ของบ่าวสาว ครัวคุณจี๊ด ขออวยพรให้ทุกคู่บ่าวสาวในวันวิวาห์ที่ใกล้จะมาถึงนี้

หื้อฮักกั๋น แพงกัน หื้อเจริญก้าวหน้า ริมาค้าขึ้น มีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง …. เน้อ เจ้า”

ติดต่อ

เริ่นต้นข้าวกล่องราคาเพียง 40 บาท รับจัดข้าวกล่องลำพูน เชียงใหม่ บริการส่งฟรีตามระยะทางที่กำหนด

โทร: 064-169-1695

ไลน์: @Kunjeedkitchen

บทความอื่นๆ